วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำนาน 12 เทพแห่งโอลิมปัส


สภาเทพแห่งโอลิมปัส ประกอบไปด้วยเหล่าเทพสูงสุดทั้งหมด 12 องค์ ตามแบบความเชื่อของชาวกรีกโบราณ เทพเหล่านี้จะสถิตย์อยู่ ณ เขาโอลิมปัส ซึ่งเป็นเขาที่สูงสุดในประเทศกรีซ 
เทพทั้ง 12 องค์  มีดังต่อไปนี้

1.เทพเจ้าซุส (Zeus)

              เทพซุส เป็นราชาแห่งทวยเทพ ผู้ปกครองเขา โอลิมปัส (Olympus) และเทพแห่งท้องฟ้าและฟ้าร้องของ ตำนานเทพปกรณัมกรีก สัญลักษณ์ประจำพระองค์คือสายฟ้า โคเพศผู้ นกอินทรี และต้นโอ๊ก นามของซีอุสแปลว่าความสว่างของท้องฟ้า
              นามของพระองค์ในตำนานเทพปกรณัมโรมันคือ เทพจูปิเตอร์ (Jupiter) และนามในตำนานอีทรูสแคนคือเทพไทเนีย (Tinia)
             พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องของ โครนัส (Cronus) และ รีอา(Rhea) ซึ่งเป็น เทพไททัน ในหลายๆ ตำนานกล่าวว่าพระองค์ได้สมรสกับ เทพีเฮร่า (Hera) แต่ก็มีสถานศักดิ์สิทธิ์แห่ง เมืองดอโดน่า (D0d0na) ที่อ้างว่าคู่สมรสของเทพซูสแท้จริงแล้วคือ เทพีไดโอนิ  (Dione) นอกจากนี้ มหากาพย์อีเลียด (Illiad) ยังกล่าวไว้ว่าเทพซูสเป็นพระบิดาของ เทพีอโฟรไดต์ (Aphrodite) ที่กำเนิดจากเทพีไดโอเน่อีกด้วย เทพซูสมักมีชื่อเสียงในพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเรื่องชู้สาวของพระองค์ ซึ่งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มนาม แกนีมีด (Ganymede) ด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของพระองค์ทำให้เกิดผู้สืบเชื้อสายอยู่หลายองค์และหลายคนด้วยกัน อาทิเช่น    เทพีอาธีน่า (Athena) เทพอพอลโล (Apollo) และ เทพีอาร์ทีมีส (Artemis) เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพีเพอร์ซิโฟเน่ (Persephone)  เทพไดโอไนซัส(Dionysus)  วีรบุรุษเพอร์ซิอุส (Perseus) วีรบุรุษเฮอร์คิวลีส (Hercules)  เฮเลนแห่งทรอย (Helen)  กษัตริย์ไมนอส  (Minos) และเหล่า  เทพีมิวเซส (Muses) ส่วนผู้สืบเชื้อสายที่เกิดจากเทพีเฮร่าโดยตรงได้แก่ เทพเอรีส (Ares)  เทพีเฮบี (Hebe) และเทพ  เอฟเฟสตตุส (Hephaestus)   เทพีเอริส (Eris) และ เทพีไอไลธีเอีย  (Eileithyia)

กำเนิดของซุส

             ตำนานการถือกำเนิดของเทพซูสมีอยู่ว่า เทพีไกอาเทพมารดาแห่งผืนดิน ได้สมรสกับเทพยูเรนัสเทพแห่งท้องฟ้า และมีบุตรกลุ่มแรกคือ เหล่าเทพไททันซึ่งสร้างความภาคภูมิแก่เทพยูเรนัสมาก แต่ทว่าบุตรต่อๆมาของเทพีไกอากลับอัปลักษณ์และน่ากลัว เช่น ยักษ์ไซคลอปส์ที่มีตาข้างเดียวกลางใบหน้า และอสุรกายน่าเกลียดต่างๆ ทำให้เทพยูเรนัสพิโรธโยนบุตรเหล่านั้นลงไปขังในคุกทาร์ทะรัสใต้พิภพ
             เทพีไกอาแค้นเทพยูเรนัสมากจึงยุยงให้เหล่าเทพไททันก่อกบฏ ไม่มีเทพองค์ใดที่กล้าชิงบัลลังก์พระบิดายกเว้นเทพโครนัส และจากการช่วยเหลือจากเทพีไกอาทำให้เทพโครนัสชิงอำนาจได้สำเร็จ ทว่าเทพโครนัสไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะปลดปล่อยอสูรผู้เป็นน้อง เทพีไกอาจึงสาปแช่งว่าบุตรที่จะเกิดมาของโครนัสจะชิงอำนาจไปเหมือนกับที่บิดาเคยทำ
             เทพโครนัสตระหนักมากเพราะหลังจากนั้นไม่นาน เทพีรีอา พระชายาก็ตั้งครรภ์ เมื่อได้ข่าวการประสูติ เทพโครนัสจึงบุกเข้าไปในตำหนักพระชายาและจับทารกผู้เป็นสายเลือดของตนกลืนลงท้องไป และครรภ์ต่อๆมาของเทพีรีอาก็เช่นกัน ส่งผลให้เทพีรีอาเศร้าเสียใจอย่างมาก
             โครนัสให้กำเนิดบุตรและธิดารวมหกองค์ คือ เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน เฮรา ซูส ซึ่งพอกำเนิดมาได้ถูกโครนัสจับกลืนลงท้องไปแต่เนื่องด้วยซูสหนีออกมาได้ จึงรอให้ตัวเองโตแล้วกลับมาช่วยอีก 6 องค์ในภายหลัง เนื่องจาก เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน และเฮรา เป็นเทพจึงไม่ตายตอนอยู่ในท้องของโครนัส
2.เทพเจ้าโพไซดอน (Poseidon)

              โพไซดอน หรือ โพเซดอน หรือ โปเซดอน เทพเจ้าแห่งท้องทะเลและมหาสมุทร ผู้ปกครองดินแดนแห่งท้องน้ำ ตั้งแต่แหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง จนถึงใต้บาดาล มีตรีศูล เป็นอาวุธ บางตำนานกล่าวว่ามีท่อนล่างเป็นปลา  นอกจากนี้แล้วยังถือว่าเป็นเทพแห่งแผ่นดินไหว  และเป็นเทพแห่งม้า ด้วย
               ตามตำนานเล่าว่า โพเซดอนเป็นบุตรของโครนัส กับรีอา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 5 องค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทพแห่งโอลิมเปียนทั้งสิ้น ได้แก่
  1. เฮสเทีย  เทพีแห่งเตาผิง ผู้ดูแลครัวเรือน
  2. ดีมิเตอร์ เทพีแห่งธัญพืชและการเกษตร
  3. เฮรา ชายาแห่งเทพซูส เทพีผู้คุ้มครองสตรีและการสมรส
  4. ฮาเดส ผู้ครอบครองยมโลก
  5. ซูส ผู้เป็นใหญ่ในสภาเทพแห่งโอลิมปัส
               รูปลักษณ์ของโพเซดอน ส่วนมากจะปรากฏเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างกำยำล่ำสัน มีหนวดเครา ถือสามง่ามเป็นอาวุธ ซึ่งสามง่ามนี้มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถดลบันดาลให้เกิดทะเลคลั่งหรือแผ่นดินไหวได้ ครั้งหนึ่งโพเซดอนเคยคิดที่จะโค่นอำนาจของซุส โดยร่วมมือกับเฮรา และ อะธีนา แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกซุสลงโทษ โดยการให้ไปสร้างกำแพงเมืองทรอยร่วมกับอพอลโลด้วยเช่นกัน
            โพเซดอนมีมเหสีองค์หนึ่งคือแอมฟิไทรท์ ซึ่งเป็น นีริอิด หรือบุตรสาวของ นีริอัส และ ดอริสโพไซดอนเห็นนางเต้นรำร่วมกับเหล่านีริอิดอื่นๆ จึงลักพาตัวนางไปเป็นชายาในดินแดนใต้สมุทร
            ชายาอีกองค์หนึ่งของโพไซดอนเป็นหญิงรับใช้ของอะธีนา คือ เมดูซ่า ก่อนที่จะถูกสาบให้มีผมเป็นงู เพราะหลงใหลในความงามของเมดูซ่า เมื่ออะธีนาทราบเรื่องจึงสาบเมดูซ่าให้เป็นปีศาจที่มีผมเป็นงู และเมื่อมองใครก็จะกลายเป็นหินไปหมด เมื่อเปอร์ซิอุสตัดศีรษะของเมดูซ่าแล้ว เลือดของเมดูซ่าที่กระเซ็นออกมา กลายเป็นม้าบินสองตัว คือ เพกาซัส (Pegasus) และ คริสซาออร์ (Chrysaor) ดังนั้นจึงถือว่า ทั้งเพกาซัสและคริสซาออร์เป็นลูกของโพเซดอนด้วย
             โพเซดอน มีพาหนะเป็นม้าน้ำเทียมรถ ที่มีส่วนบนเป็นม้าและท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งบางครั้งจะพบรูปโพเซดอนอยู่บนรถเทียมม้าน้ำนี้ขึ้นมาจากทะเล
             ในสมัยโบราณ ที่แหลมสุนิอ้อน ห่างจาก กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซไม่มาก มีวิหารที่สร้างถวายแด่โพเซดอนอยู่
ไฟล์:Poseidon sculpture Copenhagen 2005.jpg

3.ดิมิเทอร์ (Demeter)

              ดิมีเทอร์ เป็นธิดาองค์ที่2 ของโครเนิส และรีอา นางเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และการเก็บเกี่ยว นางมักจะปรากฏตัวพร้อมกับดอกไม้ ผลไม้ และเมล็ดธัญญาหาร ต่อมาได้เป็นชายาของเทพซูส และมีธิดา คือ เพอร์เซโฟเน เทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเพอร์เซโฟเนถูกฮาเดส จับตัวไปนางโศรกเศร้ามากพืชผลไม่ผลิดอกงอกงาม นั่นก็คือต้นกำเนิดของฤดูหนาว เชื่อกันว่านางได้สอนให้ชาวกรีกโบราณรู้จักศิลปะของการปลูกพืชผล เพื่อพวกเขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเพาะปลูกและมีอารยธรรมขึ้นมา



4. เทพีเฮรา (Hera)

              ฮีรา หรือ เฮรา  เป็นมเหสีและเชษฐภคินี (พี่สาว) ของซูส พระนางเป็นเทพีแห่งหญิงสาวและชีวิตสมรส เป็นผู้ปกป้องสตรีที่แต่งงานแล้ว พระนางทรงประทับบนพระบัลลังก์ทองคำเคียงข้างซูสบนภูเขาโอลิมปัส และทรงพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ใส่พระทัยกับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของสวามี ฮีราได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพธิดาผู้มีพระกรใสกระจ่างดุจงาช้าง ในตำนานโบราณสัตว์ประจำองค์ของเทพีฮีราคือวัว แต่ในตำนานยุคใหม่นกยูงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์ และจะตามเสด็จอยู่ไม่ห่าง
             เทพีฮีราเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของอารมณ์ดุร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชายาองค์อื่นๆของซูส และบุตรที่เกิดจากชายาเหล่านั้น ไม่ว่าพวกนางจะเป็นเทพีหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ตัวอย่างของผู้ที่ถูกเทพีฮีราปองร้ายมีมากมาย เช่น เทพีลีโต มารดาของเทพอพอลโล่ และ เทพีอาร์ทีมิส เฮอร์คิวลิส ไอโอ ลามิอา เกรานา ซิมิลี มารดาของเทพไดโอนิซัส ยูโรปา เป็นต้น ก็จะเจอจุดจบแบบไม่สวยงาม
กำเนิดของฮีรา
            ฮีราเป็นบุตรองค์ที่ 3 ของโครนัส และ รีอา พระนางถูกโครนัสกลืนลงท้องไปตั้งแต่เพิ่งถือกำเนิดเนื่องจากคำสาปของไกอาที่ว่าบุตรของโครนัสจะโค่นอำนาจของโครนัสเหมือนกับที่โครนัสได้โค่นอำนาจของยูเรนัส แต่ต่อมาเทพีรีอาได้ซ่อนซูส(หรือซีอุสนั่นเอง – zeus) ผู้เป็นบุตรองค์สุดท้องไว้และนำซีอุสกลับมาเพื่อแก้แค้นโครนัส และนำพี่ๆที่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในท้องของโครนัสออกมา เทพีฮีราจึงปรากฏกายขึ้น
            เชื่อกันว่าเทพีฮีราถูกเลี้ยงดูมาโดยไททันทีธิส และมหากาพย์อิเลียด ในครั้งที่ฝ่ายทรอยกำลังได้เปรียบเพราะซูสได้หนีจากเขาโอลิมปัสไปยังเขาไอดาเพื่อให้การช่วยเหลือชาวทรอย ฮีราได้อ้างว่าจะไปพบกับเทพีทีธิส เพื่อจะได้ขอยืมเครื่องแต่งกายที่สวยที่สุดจากอะธีน่าและสร้อยคอแห่งความปรารถนาจากอะโฟรไดท์ไปใช้ในการล่อลวงให้ซูสหันเหความสนใจจากสงครามแห่งทรอย เปิดทางให้โพไซดอนได้นำกำลังไปถล่มชายฝั่งทรอย
ฮีรามีบุตรทั้งหมด ดังนี้
  1. ฮีบี (Hebe) หรือ แกนีมีดา เทพธิดาแห่งความเยาว์วัย ได้รับหน้าที่ ให้ถือถ้วยของเทพเจ้า จนถูกปลด ให้เจ้าชาย แกนิมีดทำแทน เนื่องจากนาง แสดงความหยาบคาย ในงานที่จัดขึ้นที่                โอลิมปุสงานหนึ่ง
  2. อิลิธียา (Eileithyia อาจมีการสะกดหลายแบบ) หรือ ลูซิดา ในตำนานโรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก
  3. แอรีส (Ares) หรือ มาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม
  4. อีริส (Eris) หรือ ดิสคอร์เดีย เทพธิดาแห่งการวิวาทบาดหมาง ฝาแฝดของแอรีส (ซึ่งเป็นเทพธิดา ผู้กลิ้งลูกแอปเปิ้ลทองคำ ที่สลักคำว่า “แด่ผู้ที่งดงามที่สุด” เข้าไปในกลุ่มเทพธิดา ที่มาใน งานแต่งงานในโอลิมปุส จนผลของการตัดสินของ เจ้าชายปารีสนำไปสู่มหาสงครามซึ่งทำให้ทรอยล่มสลาย)
  5. ฮีเฟสตุส (Hephaestus) หรือวัลแคน เทพแห่งการช่าง เทพองค์นี้ ส่วนมากว่า เป็นโอรสที่ฮีรา ให้กำเนิดฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวกับซุส หรือชายใด
              บางตำนานกล่าวว่าฮีราอิจฉาที่ซูสสามารถให้กำเนิดบุตรด้วยตนเองได้ นั่นคืออะธีน่า นางจึงสร้างฮีเฟสตุสขึ้นมาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซูส แต่เมื่อฮีเฟสตุสถือกำเนิดขึ้นนางก็โยนบุตรชายลงจากเขาโอลิมปัสเนื่องจากรังเกียจรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดของฮีเฟสตุส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฮีเฟสตุสกลายเป็นเทพที่มีขาพิการ
              ภายหลังฮีเฟสตุสได้ทำการแก้แค้นพระมารดาด้วยการสร้างบัลลังก์ทองที่แสนสวยงามให้ฮีรา แต่เมื่อนางนั่งลงบนบัลลังก์ทองนั้นแล้วกลับลุกขึ้นมาไม่ได้อีกเลย
             เทพโอลิมปัสร่วมกันอ้อนวอนให้ฮีเฟสตุสกลับขึ้นมาอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัสและให้อภัยพระมารดา แต่ฮีเฟสตุสไม่ยอม ในที่สุดเหล่าเทพจึงส่งเทพไดโอไนซัสผู้เป็นเทพแห่งเหล้าองุ่นให้มอมเหล้าฮีเฟสตุสและนำเขาขึ้นมายังเทือกเขาโอลิมปัส ทำให้คำสาปเรื่องบัลลังก์ทองเสื่อมไป เทพีฮีราจึงได้ลุกขึ้นจากบัลลังก์อีกครั้ง
ไฟล์:Hera Campana Louvre Ma2283.jpg
5.เทพเจ้าแอรีส (Ares)

               แอรีส  หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อาวุธ และชุดเกราะ และเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัส ด้วย

                แอรีส เป็นเทพแห่งการสงครามเช่นเดียวกับ อธีน่า แต่ทว่าอธีน่าจะได้รับการยกย่องและบูชามากกว่า เนื่องจากอธีน่าเป็นเทพีที่ใช้สติปัญญาวางแผนในการสู้รบมากกว่า ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะเทพีแห่งสติปัญญาด้วย ผิดกับแอรีสซึ่งมักจะใช้ความดุดันและโหดร้ายในการสงครามมากกว่า             ซึ่งโฮเมอร์ กวีเอกคนสำคัญของกรีกโบราณ ยังเคยเขียนถึงพระองค์ว่า เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้า
                แอรีสเป็นบุตรของซีอุส มหาเทพและพระนางเฮรา มเหสีของซีอุส แอรีสเป็นเทพที่ชาวกรีกไม่นับถือบูชา เพราะถือว่าเป็นเทพที่โหดร้ายและมีเรื่องราวที่น่าอับอายเกี่ยวกับพระองค์เยอะ และถึงแม้จะเป็นเทพแห่งสงคราม แอรีสก็รบแพ้ในการสงครามหลายต่อหลายครั้ง ทั้งแก่มนุาษย์กึ่งเทพเองอย่าง เฮราคลีสและกับอธีน่า เทพีแห่งสงคราม พี่น้องของพระองค์เอง
               แต่แอรีสเป็นที่นับถืออย่างมากของชาวโรมัน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่โปรดปรานการสู้รบ ถึงกับแต่งให้แอรีสเป็นบิดาของรอมิวลุส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรมเลยทีเดียว
              ในทางด้านชู้สาว พระองค์ลักลอบมีชู้กับเทพีอโฟรไดท์จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตให้อับอายไปทั้งสวรรค์ และเป็นอพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์ ที่จับผิดและแก้ไขพฤติกรรมของทั้งคู่
              แอรีส เมื่อเสด็จไปไหน จะใช้รถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะและแสงศาตราวุธส่องแสงเจิดจ้าบาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ ดีมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟมอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บางตำนานก็กล่าวว่า ทั้งดีมอสและโฟบอสเป็นบุตรชายฝาแฝดของแอรีส และชื่อของทั้งคู่ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่าความตื่นตระหนก (Panic) และ ความกลัว (Phobia) และในทางดาราศาสตร์ แอรีสหรือมาร์ส คือ ดาวอังคาร ดีมอส  และโฟบอส ก็ถูกตั้งเป็นชื่อของดวงจันทร์บริวารของดางอังคารด้วย
6.เทพเจ้าอพอลโล (Apollo)

             อพอลโล  เป็นบุตรชายคนโตของมหาเทพซุส เป็นหนึ่งใน 12 เทพแห่งโอลิมปัส  เป็นบุตรของซีอุส จอมเทพแห่งสวรรค์และนางเลโต เป็นเทพแห่งแสฟี่นทร์คู่กัน อพอลโล เป็นบุรุษหนุ่มรูปงาม มักเล่นดนตรีด้วยพิณ เชี่ยวชาญการใช้ธนู ในสงครามกรุงทรอย อพอลโลมีบทบาทเป็นเทพที่รักษาชายฝั่งเมืองทรอย ที่เมืองเดลฟี่มีเทวสถานบูชาอพอลโลอยู่
             นอกจากนี้แล้ว อพอลโลยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ฟีบัส (Phoebus) อาเบล (Abel)               ไพธูส (Pytheus) หรือ เฮลิออส (Helios) ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายถึง แสงสว่างทั้งสิ้น
             ปัจจุบัน อพอลโลเป็นชื่อที่ถูกตั้งตามอยู่บ่อยครั้ง โดยมีความหมายในทางที่เกี่ยวกับแสงสว่างหรือความสำเร็จ เช่น เป็นชื่อปฏิบัติการทางอวกาศของนาซา ที่เรียกว่า โครงการอพอลโล หรือเป็นชื่อสินค้าต่างๆ เช่น ยี่ห้อน้ำมันเครื่อง ยี่ห้อหรือชื่อรุ่นรถยนต์ ชื่อบริษัท เป็นต้น
            อพอลโลเป็นเทพที่ถูกปั้นด้วยทองแดงยืนคร่อมอ่าวทะเลอีเจียนที่เกาะโรดส์ ที่มีชื่อว่า เทวรูปโคโลสซูส  นับเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์โลกยุคโบราณ ด้วยโดยทั่วไปรูปปั้นอพอลโลจะถือเครื่องดนตรีคล้ายพิณและมีลูกบอลทองคำที่เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์
7. เทพเจ้าอาร์เทมีส (Artemis)


            อาร์เทอมีส  หรือในภาคโรมันคือ ไดอานา (Diana)คือเทพเจ้าแห่งการล่าสัตว์ เทพีแห่งดวงจันทร์ และเป็นเทพีแห่งความรักทางใจ ตำนานการกำเนิดกล่าวว่าเป็นธิดาฝาแฝดของเทพซุสกับนางอัปสร ลีโต(Leto) หรือ แลโตนา (Latona) มีพี่ชายร่วมอุทรคือ เทพอพอลโลซึ่งเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ และการดนตรี
            เทพฝาแฝดทั้งสองถูกปองร้ายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพราะเทพีเฮราซึ่งเป็นมเหสีเอกของเทพซุสเกลียดชังชายาน้อยของสวามีจึงลามไปถึงบุตรที่เกิดจากอนุเหล่านั้นด้วย เมื่อรู้เรื่องของนางลีโต พระนางจึงสาปแช่งนางลีโตว่าจะไม่สามารถคลอดบุตรบนแผ่นดินใดได้ อีกทั้งยังส่งงูร้าย ไพธอน (Python)ตามฉกกัดนางลีโตตลอดเวลา นางลีโตประสบเคราะห์กรรมอย่างน่าสงสารเพราะไปที่ใดก็ไม่มีใครต้อนรับด้วยกลัวเกรงอาญาของเทพีเฮรา ทั้งต้องหลบหนีงูร้ายจนอยู่ไม่เป็นสุข และเทพซุสก็กลัวเทพีเฮราเกินกว่าจะช่วยเหลือนางลีโตกับบุตรในครรภ์
           กระทั่งครบกำหนดครรภ์ นางลีโตเจ็บปวดทุกข์ทรมานปางตายเพราะไม่อาจคลอดบุตรได้ ทำให้เทพโพไซดอนเกิดความสงสาร จึงบันดาลเกาะดีลอส (Delos)ให้โผล่ขึ้นกลางทะเล ไม่ติดต่อกับแผ่นดินใด นางลีโตจึงพ้นคำสาป จนกระทั่งสามารถประสูติเทพฝาแฝด เทพอพอลโล และเทพีอาร์เทอมิส ออกมาอย่างปลอดภัย
           ทันทีที่ประสูติออกจากครรภ์ เทพอะพอลโลก็ฆ่างูไพธอนตาย จนได้นามอีกว่า ไพธูส เมื่อเทพทั้งสองประสูติ เทพบิดาซุสจึงอัญเชิญเทพทั้งสองขึ้นเป็นเทพบนเขาโอลิมปัส และคลายความหมางใจระหว่างเทพีเฮรากับเทพฝาแฝดจนเป็นผลสำเร็จ
ความรัก
           ตำนานความรักของเทพีอาร์เทอมีสนั้นมีอยู่สองตำนาน ตำนานแรกคือตำนานของกรีกซึ่งเกี่ยวกับกลุ่มดาวนายพรานซึ่งสุกสว่างอยู่บนท้องฟ้าในยามกลางคืน ส่วนอีกตำนานหนึ่งคือตำนานของโรมันซึ่งกล่าวถึงเอนดิเมียน ชายหนุ่มเลี้ยงแกะรูปงาม
         ในตำนานของกรีกนั้นกล่าวว่าเทพีอาร์เทอมีสทรงสาบานตนเป็นเทพีพรหมจารีย์ร่วมกับอะธีน่าและเฮสเทียต่อหน้าแม่น้ำสติกซ์ นางชิงชังชีวิตสมรส ความรัก และการยุ่งเกี่ยวกับผู้ชาย แต่สิ่งหนึ่งที่เทพีอาร์เทอมีสไม่ปฏิเสธคือการมีสหายเป็นชายที่รักการล่าสัตว์เช่นเดียวกับพระนาง
         สหายสนิทของเทพีอาร์เทอมีสมีนามว่าโอไรออน เขาเป็นนายพรานผู้ฉมังในการล่าสัตว์ มีสุนัขคู่ใจชื่อว่าซิริอุส ทุกๆ วันเทพีอาร์เทอมีสและสหายจะร่วมกันล่าสัตว์และพูดคุยกันอย่างสนุกสนานหลังจากล่าสัตว์เสร็จ
         เทพีอาร์เทอมีสหลงรักนายพรานหนุ่มและคิดที่จะสละความเป็นเทพีพรหมจารีย์เพื่อแต่งงานกับโอไรออน อพอลโล่รู้ถึงความคิดนี้เข้าและกลัวว่าอาร์เทอมีสจะต้องรับโทษจากการผิดคำสาบานต่อหน้าแม่น้ำสติกซ์ จึงวางแผนที่จะล้มเลิกความคิดของน้องสาวฝาแฝด
          อพอลโล่สั่งให้โอไรออนเดินลุยน้ำทะเลไปยังเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเล และเมื่อโอไรออนเดินไปถึงยังจุดที่ไกลจนเมื่อมองจากเกาะดีลอสแล้วจะเห็นเพียงศีรษะของโอไรออนที่มองดูเหมือนกับเกาะกลางน้ำ เทพอพอลโล่ก็ชวนเทพีฝาแฝดมาล่าสัตว์แข่งกัน และท้าพนันให้อาร์เทอมีสยิงธนูทะลุเกาะกลางทะเลที่อพอลโล่ชี้ให้ดูให้ได้
          อาร์เทอมีสตกหลุมพรางของเทพฝาแฝด เหนี่ยวสายธนูเต็มแรงจนลูกธนูทะลุศีรษะของโอไรออนถึงแก่ความตาย เมื่ออาร์เทอมีสทราบว่าตนได้ฆ่าชายที่รักลงด้วยน้ำมือของตนเองแล้ว พระนางก็ได้นำศพของโอไรออนและซิริอุสสุนัขคู่ใจขึ้นไปไว้บนท้องฟ้าในตำแหน่งของกลุ่มดาวนายพราน และ ดาวสุนัขใหญ่

 ลักษณะ

          เทพีอาร์เทอมีสมีรูปลักษณ์เป็นหญิงสาวผู้งดงาม อยู่ในชุดล่าสัตว์ทะมัดทแมงกระโปงสั้น ชุดมักมีสีน้ำเงิน ในมือถือคันธนู
ไฟล์:Artemis Louvre2.jpg
8. เทพเจ้าเฮอร์เมส (Hermes)

              เฮอร์มีส  เป็นชื่อเทพเจ้าในปกรณัมกรีก เรียกชื่อในตำนานเทพเจ้าโรมัน ว่า เมอร์คิวรี่ เป็นเทพผู้คุ้มครองเหล่านักเดินทาง คนเลี้ยงแกะ โจรผู้เร่ร่อน กวี นักกีฬา นักประดิษฐ์ และพ่อค้า อาจเรียกได้ว่า เฮอร์มีสเป็นเทพแห่งการสื่อสาร พระองค์เป็นบุตรของเทพซุสเกิดแต่นางเมยา (Maia) มีของวิเศษคือหมวกและรองเท้ามีปีก เรียกว่า เพตตะซัส (Petasus) ซึ่งเป็นของขวัญที่ได้รับจากเทพบิดา เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเทพสื่อสาร และมีคถาคาดูเซียส (Caduceus) ซึ่งรูปร่างของคถาจะมีคถางูไขว้อยู่สองตัว       เฮอร์มีสพบงูสองตัวนี้เมื่อเห็นมันสู้กันเลยเอาคถาทิ่มระหว่างงูสองตัวเพื่อห้ามไม่ให้เกิดความวิวาท งูเลยเลื้อยมาพันอยู่รอบไม้แล้วหันหัวเข้าหากันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกลางด้วย
บุตรของเทพเฮอร์มีสได้แก่ เทพแพน เทพเฮอร์มาโฟรไดทัส และเทพออโตไลคัส
ไฟล์:Mercurybyhendrickgoltzius.jpeg

9. เทพีอธีนา (Athena)

             เทพีอธีนา หนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัส เป็นเทพีแห่งปัญญา เนื่องจากเกิดมาจากส่วนหัวของ ซุส ประมุขแห่งเหล่าทวยเทพ ในขณะที่กำลังประชุมเหล่าเทพที่เทือกเขาโอลิมปัส เมื่อจู่ ๆ ซูสเกิดปวดศีรษะอย่างรุนแรง จึงได้ให้เฮเฟสตัส เทพแห่งการตีเหล็กใช้ขวานผ่าศีรษะออก ปรากฏเป็นอธีนาที่สวมชุดเกราะพร้อมหอกกระโดดออกมา เทพีอธีนาเป็นธิดาของเทพีเมทิส ซึ่งถูกซูสกลืนเข้าไปในท้องตั้งแต่ยังมีครรภ์แก่ เนื่องจากคำทำนายที่ว่าบุตรที่เกิดจากนางจะเป็นผู้โค่นบัลลังก์ของซูส แต่แม้ว่าอธีนาจะถือกำเนิดมาพร้อมกับคำทำนายนั้น พระนางก็เป็นหนึ่งในลูกรักของซูส ว่ากันว่าฮีราอิจฉาอธีนาที่ถือตัวว่าเป็นผู้กำเนิดมาจากซูสโดยตรง
             และนอกจากอธีนาจะเป็นเทพีแห่งปัญญาแล้ว ยังเชื่อกันว่าพระนางเป็นเทพีแห่งสงครามด้วย เนื่องจากเทวรูปของพระนางมักปรากฏเป็นรูปผู้หญิงสวมชุดเกราะ ถือโล่ห์และหอกที่มือซ้าย และถือไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะที่มือขวา โดยที่ชื่อกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ก็มีที่มาจากพระนามของนาง ชื่อเต็มของอธีนาคือ พัลลัสอธีนา (Pallas Athena) ซึ่งชื่อพัลลัส มาจากเพื่อนมนุษย์ของอธีนาซึ่งเธอพลั้งมือสังหารไปขณะเล่นด้วยกัน จึงได้นำชื่อของพัลลัสมาใส่นำหน้าเพื่อเป็นที่ระลึก อธีนาเป็นตัวแทนของสงครามที่เอาชนะด้วยกลยุทธหรือความถูกต้อง ซึ่งต่างจากแอรีส ที่เป็นเทพสงครามที่ใช้กำลังมากกว่า
           นอกจากนี้ อธีนา ยังเป็นหนึ่งในสามเทพีพรหมจรรย์ด้วย ซึ่งประกอบด้วย พระนาง, อาร์เทมีส เทพีแห่งดวงจันทร์ และ เฮสเทีย เทพีแห่งครัวเรือน
เมืองเอเธนส์
           ตามตำนานกรีกเล่าว่า ที่มาของชื่อเมืองเอเธนส์ (Athens) นั้น มาจากการที่ชาวกรีกจะตั้งชื่อเมืองแต่ไม่รู้จะใช้ชื่ออะไร โพไซดอน เทพแห่ง มหาสมุทร ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของอธีนา ใช้ตรีศูลอาวุธของตนสร้างม้าขึ้นมา(บ้างก็ว่าสร้างน้ำพุขึ้น) ชาวเมืองต่างพากันชื่นชมม้าเป็นอันมาก แต่เทพีอธีนาได้เนรมิตต้นมะกอกขึ้นมา ซึ่งสามารถใช้ผลเป็นประโยชน์ได้ นอกจากนี้ มะกอก ยังเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ในขณะที่ม้าเป็นสัญลักษณ์ของสงคราม ชาวเมืองจึงตกลงใช้ชื่อเมืองว่า เอเธนส์ ตามชื่อของพระนาง และมะกอกก็กลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญอันดับหนึ่งของกรีซมาจนปัจจุบัน
           อาจกล่าวได้ว่า อธีนา เป็นเทพที่ชาวกรีกให้ความนับถือมากที่สุดก็ว่าได้ ในสมัยโบราณมีการสร้างมหาวิหารเพื่อถวายแด่พระนาง คือ วิหารพาเธนอนซึ่งตั้งอยู่ที่เนินอะโครโปลิส ที่กรุงเอเธนส์ในปัจจุบัน ในการท่องเที่ยวของกรีซ จะพบรูปปั้นขนาดเล็กของอธีนาขายเป็นที่ระลึกอยู่ทั่วไป ในวัฒนธรรมสมัยนิยมก็ถูกอ้างถึงในการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นต้น เช่น เรื่อง เซนต์เซย่า เมื่ออธีนาได้จุติลงมาเป็นเด็กผู้หญิงที่ชื่อ คิโค ซาโอริ ทำหน้าปกป้องโลกจากเทพองค์อื่น ๆ ที่มีความปรารถนาจะครองโลก ซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายหญิงของการ์ตูนเรื่องนี้ทีเดียว
ไฟล์:Patung Pallas Athena.jpg
10. เทพีอะโพรไดท์ (Aphrodite)
ไฟล์:François Boucher 032.jpg

              เทพีอะโพรไดท์หรือเทพีวีนัส เป็นเทพีแห่งเทพปกรณัมโรมันที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรักและความงาม หรืออีกชื่อคือ อโพรไดท์ (Aphrodite) แห่งเทพปกรณัมกรีก พระนางเป็นชายาของเทพวัลคัน (Vulcan) หรือเฮฟเฟสตุสเทพแห่งงานช่าง เทพีวีนัสตามตำราว่าเกิดขึ้นเองจากฟองทะเล ด้วยพระนามของพระนาง อะโฟรไดท์ นั้น มาจากคำว่า ‘Aphros’ที่แปลว่าฟอง ซึ่งมีตำนานว่าพระนางเกิดในทะเลใกล้เกาะไซเธอรา และถูกคลื่นซัดไปยังเกาะไซปรัส แต่บางตำราว่าเป็นธิดาของเทพซุสที่เกิดจากจากนางอัปสรไดโอนี แต่ที่ตรงกันคือพระนางมีความงดงามที่ไม่มีใครเทียมได้แม้กระทั่งเทพธิดาด้วยกัน และสามารถสะกดใจผู้ชายทุกคนได้ภายในพริบตาแรกที่มองเห็นพระนาง อีกทั้งพระนางก็ชอบใจในความสวยงามของตนเองมากเสียด้วย พระนางจึงไม่ยอมเด็ดขาดหากใครจะกล้าล้ำเส้นเทพีความงามของพระนาง ด้วยแรงริษยาที่รุนแรงพอๆกับรูปโฉมสะสวยทำให้เทพีวีนัสเป็นที่หวาดหวั่นของเทพหลายๆองค์
             ในวันแรกที่เทพีวีนัสปรากฏตัวบนเขาโอลิมปัส เทพชายทุกองค์โดยเฉพาะเทพซุสเองก็อยากได้พระนางมาครอบครอง แต่เทพีวีนัสไม่ใช่หญิงสาวเรียบร้อยหัวอ่อนว่าง่าย ทำให้เทพซุสเกิดความโมโหและแก้เผ็ดพระนาง โดยจับพระนางแต่งงานกับเทพวัลแคนพระโอรสของพระองค์ ซึ่งเทพวัลแคนชอบขลุกอยู่ในโรงงาน ก่อสร้าง และประดิษฐ์สิ่งต่างๆเนื้อตัวมอมแมม แถมยังเป็นเทพขาเป๋ ทำให้เทพีวีนัสโกรธเคืองอย่างมาก แต่พระนางก็กล้าทำในสิ่งที่เทพีอื่นๆ ไม่กล้า นั่นคือการคบชู้สู่ชายแบบตามใจชอบ
11. เทพเจ้าเฮเฟสตัส (Hephaestus)

                 เฮเฟสตัส  เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง เป็นบุตรของซุส กับฮีรา (บางตำราว่าเป็นบุตรของฮีรา ผู้เดียว) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ถูกซุสโยนลงจากสวรรค์เมื่อครั้งเข้าไปช่วยฮีรา จากการทะเลาะกับซุส
เนื่องด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์จึงถูกพระบิดาและมารดาทอดทิ้ง อีกทั้งพระชายาคือเทพีอโพรไดท์ยังดูแคลนจนกระทั่งไปมีชู้รักมากมาย รวมทั้งอนุชาร่วมอุทรของเทพฮีเฟสตัสเอง คือเทพอาเรสจนมีโอรสธิดาหลายองค์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสายเลือดสวามีอัปลักษณ์องค์นี้แม้แต่องค์เดียว
ฮีเฟสตัสใช้เวลาช่วง 10 ปีแรกอยู่ในทะเล และได้สร้างโรงหล่อไว้ใต้ภูเขาไฟเอตนา มีไซคลอปส์เป็นคนงาน โดยสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น มีดังนี้
            อาวุธของ อคิลลีส และ อีเนียส
            คทาของ อะกาเมมนอน
            สร้อยคอของ ฮาร์โมเนีย ซึ่งผู้สวมใส่จะประสบเคราะห์ร้าย
            โล่ของ เฮราคลีส
เทพฮีเฟสตัสมีรักครั้งแรกคือเทพีอะธีนา แต่พระนางไม่ตกลงปลงใจด้วย (คงเพราะเทพฮีเฟสตัสใช้กำลังพยายามลวนลามพระนาง) และเหตุนี้ทำให้เทพีอะธีนามุ่งมั่นจนกลายเป็น 1 ใน 3 เทพีครองพรหมจรรย์
12.เทพเจ้าไดอะไนเซิส (Dionysus)

            ไดอะไนเซิส ใน ตำนานเทพเจ้ากรีก “ไดอะไนเซิส” เป็นเทพเจ้าแห่งไวน์  ผู้เป็นแรงบันดาลใจของความประเพณีความคลั่งและความปิติอย่างล้นเหลือ (ecstasy) และเป็นเทพองค์ล่าสุดในสิบสองเทพโอลิมปัส ที่มาของไดอะไนเซิสไม่เป็นที่ทราบ แต่ตามตำนานว่าได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ
              เทพไดโอไนเซิส เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า แบคคัส เทพแห่งเมรัย และไวน์องุ่น เป็นบุตรของเทพซูสกับนางซิมิลี่ ซึ่งเป็นมนุษย์ ธิดาแห่งกรุงเธป เทพซูสได้แปลงกายเป็น มนุษย์รูปงามลงมาโลกมนุษย์ เพราะเกรงว่ามเหสี พระนางเฮร่า จะรู้เข้า และกลัวว่านางซิมิลี่จะเกรงกลัวในรัศมีของพระองค์ และในที่สุด ก็ได้นางเป็นชายาอีกองค์ แต่แล้ว พระนางเฮร่า ก็รู้เข้า จึงได้แปลงกายมาเป็นคนรับใช้ของนางซิมิลี่ มาหลอกล่อให้นางอยากเห็นรูปร่างที่แท้จริงของเทพซุส


ขอขอบคุณที่มา https://angsumarin.wordpress.com/

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตำนานกลุ่มดาว12ราศี

ราศีมังกร
ตำนานของราศีมกรที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ เมื่อครั้งที่เหล่าเทพจัดงานฉลองกันริมแม่น้ำไนล์แล้วไทพ่อนโผล่ออกมานั้น เทพแพนซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทุ่งมีเขาเหมือนแพะ หูที่แหลม และมีขนขึ้นอีกด้วย เทพแพนตกใจมากจึงกลายร่างเป็นสัตว์คิดจะหนีไป แต่ด้วยความรีบร้อนจึงกายเพียงครั้งล่างเป็นปลากระโดดลงน้ำหนีไป และเทพซีอุสที่เห็นว่าน่าสนุกดีจึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มดาวขึ้นมา ส่วนอีกตำนานหนึ่งว่าเป็นแม่แพะชื่อว่าอามัลเทียที่คอยให้นมแก่ซีอุสเมื่อครั้งยังเป็นเด็กทารกอยู่ ซีอุสจึงให้เกียรติเธอ สามอย่างคือ หลังจากที่เธอตายให้เอาหนังไปแปะไว้โล่ห์ของตน ซึ่งต่อมากลายเป็นของอาเธน่า (โล่ห์ชื่อว่าไอกิส) และให้เขาของเธอเต็มไปด้วยผลไม้ทองคำจากสวนเฮสเพริเดส เมื่อเด็ดกินหมดมันก็จะงอกขึ้นมาใหม่เอง เรียกว่าเป็นเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ และสุดท้ายให้กลายเป็นกลุ่มดาว

ราศีกุมภ์
เมื่อครั้งที่สมัยเมืองทรอยยังคงอยู่ มีเจ้าชายนามว่ากานีเมเด (Ganymede) กานีเมเดเป็นเด็กหนุ่มรูปงามเสียจนว่า แม้แต่สาวงามก็ยังเทียบได้ยาก ซีอุสซึ่งแต่เดิมจะเป็นหญิงหรือชายก็ไม่เกี่ยงอยู่แล้วนั้น เมื่อได้เห็นก็เกิดถูกใจในความงามของกานีเมเดเข้า จึงแปลงกลายเป็นนกอินทรี (บ้างก็ว่าส่งอินทรีมา) มาลักพาตัวกานีเมเดที่กำลังต้อนฝูงแกะอยู่นั้นเองไปที่โอลิมปัส และให้ทำหน้าที่เป็นผู้รินเหล้าแก่เหล่าเทพ (ประมาณว่าโดนจับให้มาเป็นเด็กเชียร์เบียร์ แต่ว่ากันว่าไม่ใช่แค่รินเหล้า แต่ให้เป็นเด็กรับใช้ส่วนตัวของซีอุสด้วยซ้ำ) ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของเฮเบ (Hebe) เทพีแห่งความเยาว์วัยซึ่งเป็นธิดาของเทพีเฮร่าและซีอุส แต่ได้เกษียณตัวเองไปแต่งงานกับเฮอร์คิวลิสที่ถูกยกให้เป็นเทพบนสวรรค์ (ถือว่าเป็นการสงบศึกกันระหว่างเฮร่าและเฮอร์คิวลิส) แต่เมื่อเฮร่าเห็นซีอุสให้ความรักแก่กานีเมเดก็เกิดความหึงหวง ฝ่ายซีอุสก็กลัวเมียเป็นทุนเดิม จึงให้กานีเมเดไปเป็นกลุ่มดาวราศีกุมภ์เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนเฮร่ารังควาน และใกล้ ๆ กันจะมีกลุ่มดาวอินทรีซึ่งก็คือร่างของซีอุสที่กลายร่างเป็นอินทรีมาลักตัวกานีเมเดไปนั่นเอง แต่บางเรื่องเล่าก็ว่าเมื่อกานีเมเดถูกลักพาตัวไปแล้ว ฝ่ายบิดาและมารดาซึ่งเป็นเจ้าเมืองทรอยในตอนนั้นก็เศร้าเสียใจมาก ซีอุสจึงให้ผู้รับใช้นำของขวัญมาปลอบใจซึ่งได้แก่ม้าวิเศษที่วิ่งบนน้ำได้ (บ้างก็ว่าเป็นเถาองุ่นทองคำ) และเล่าว่ากานีเมเดได้รับพรให้ไม่แก่ไม่ตายและยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้รินเหล้าแก่เหล่าเทพอีกด้วย และซีอุสก็ได้ทำให้กานีเมเดกลายเป็นกลุ่มดาวราศีกุมภ์ เพื่อให้พ่อแม่ของเขาสามารถมองเห็นเขาอยู่บนท้องฟ้าได้
ราศีมีน
เมื่อครั้งที่เหล่าเทพจัดงานฉลองกันริมแม่น้ำไนล์แล้วสัตว์ประหลาดไทพ่อนโผล่ออกมานั้น อโฟรไดท์(Aphrodite) เทพีแห่งความงามและความรักได้แปลงกายตัวเองเป็นปลา และลูกชายของเธอ อีรอส (Eros) ก็แปลงเป็นปลาด้วยเช่นกันแล้วกระโดลงแม่น้ำไนล์ว่ายหนีไป โดยทั้งสองใช้เชือกหนึ่งเส้นผูกไว้ระหว่างกันเพื่อไม่ให้หลงทางแยกจากกัน ซึ่งรูปกลุ่มดาวราศีมีนก็คือรูปร่างของทั้งสองเมื่อครั้งกลายร่างเป็นปลานั้นเอง บางเรื่องเล่าว่าผู้ที่ทำให้กลายเป็นหมู่ดาวคือเทพีอาเธน่า

แต่ที่ว่าแม่น้ำที่กระโดดลงไปไม่ใช่แม่น้ำไนล์แต่เป็นแม่น้ำเอริดานุส(Eridanus) ก็มี

ราศีเมษ
ถ้าใครเคยดูหนังเรื่องเจสันกับขนแกะทองคำ (ไม่แน่ใจว่าเรื่องชื่อหนังเหมือนกัน อาจจะเป็น อภินิหารขนแกะทองคำก็ได้นะ) คงจำขนแกะที่แขวนอยู่บนต้นไม้แล้วมีสัตว์ประหลาดเฝ้าอยู่ได้ ก็แกะตัวนั้นแหละที่เป็นที่มาของกลุ่มดาวราศีเมษ แต่เรื่องของต้นกำเนิดของกลุ่มดาวเป็นเรื่องก่อนหน้าที่เจสันจะเดินทางไปเอาขนแกะ ตามที่เอามาสร้างเป็นหนังให้ดู (แต่บางตำนานก็ว่า กลุ่มดาวราศีเมษมาจากตอนของเจสันนี่ล่ะ แต่เรามาพูดถึงตอนที่แกะมันยังเป็นตัวดีกว่า)
เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าชายพริซัส (Phrixus) และเจ้าหญิงเฮเล่ (Helle) บุตรฝาแฝดของพระราชาอาธามัส (Athamus)และเนเพเล่ (Nephele:เป็นนิมส์เมฆ ไม่รู้จะอธิบายยังไง เอาเป็นว่าเป็นภูตประเภทหนึ่ง แต่บางก็ว่าเป็นเทพีที่ซีอุสสร้างขึ้นเลียนแบบเทพีเฮร่า) แต่ต่อมาอาธามัสก็ทิ้งนางไปแต่งงานกับนางไอโน่ (Ino) ซึ่งนางไอโน่นั้นเมื่อคลอดลูกของตัวเองออกมา ก็รู้สึกไม่ชอบใจลูกเลี้ยงทั้งสองของตนเองจึงคิดจะวางแผนฆ่า โดยให้พวกผู้หญิงที่มีหน้าที่เป็นคนหว่านเมล็ดพันธุ์พืชเอาเมล็ดไปล่นไฟ ทำให้เมล็ดไม่สามารถเพาะปลูกได้ เกิดเป็นภัยแล้งขึ้นราชาอาธามัสจึงไปปรึกษากับนักบวช(ซึ่งแน่นอนนางไอโน่ซื้อตัวไปแล้ว) และนักบวชก็แนะนำว่า จะต้องสังเวยบุตรฝาแฝดทั้งสองต่อเหล่าเทพแล้วการเพาะปลูกจะอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม ราชาอาธามัสได้ฟังเช่นนั้นก็ให้ทุกคนจัดแจงเตรียมงานสังเวยขึ้นทันที แต่ทว่าเนเพเล่เมื่อรู้เรื่องเข้าก็ไปร้องขอต่อซีอุสให้ช่วย เทพซีอุสจึงส่งแกะที่มีขนเป็นทองคำมาให้แก่เนเพเล่ ให้ลูกทั้งสองขึ้นหลังแกะแล้วหนีไป

ทว่าระหว่างทางที่หนีอยู่นั้น แกะบินสูงเกินไป เจ้าหญิงเฮเล่เกิดหน้ามืดตกลงจากหลังแกะไปในทะเล และเสียชีวิตลง ส่วนเจ้าชายพริซัสนั้นมาถึงเมืองคอลคิส (Colchis) โดยปลอดภัย และพระราชาอาเอเตส (Aeëtes) ก็ไห้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่พริซัสกลับทำสิ่งที่น่าตกใจคือฆ่าแกะที่ช่วยพาตัวเองหนีมาทิ้ง แล้วยกขนทองคำให้พระราชาอาเอเตส (ไม่รู้ว่ามันทำเพื่อแก้แค้นในน้องสาวหรือเปล่านะแต่สงสารแกะชะมัด) แต่บ้างก็ว่าที่ฆ่าทิ้งเพราะจะสังเวยให้แก่เทพซีอุส (แต่เดิมมันก็เป็นของซีอุสอยู่แล้วนี่หว่า แล้วทำไมไม่คืนให้ทั้งตัวไปเลยฟะ) แล้วราชาอาเอเตสก็เอาขนแกะไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ในป่า และให้มังกรที่ไม่หลับไม่นอนเฝ้าเอาไว้ ส่วนเรื่องหลังจากนั้นกาดูจากตอนของเจสันได้

แล้วยังมีอีกเรื่องเล่าหนึ่งที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มดาวราศีเมษ คือ เมื่อครั้งที่เหล่าเทพจัดงานสังสรรค์ที่ริมแม่น้ำไนล์ตอนที่กำลังครื้นเครงกันสุด ๆ อยู่ ๆ เจ้าสัตว์ประหลาดนามว่าไทพ่อน(Typhon) ก็โผล่ออกมา เหล่าพวกเทพต่างตกใจก็เลยแปลงร่างเป็นสัตว์วิ่งหนีกันไป โดยซีอุสแปลงร่างเป็นแกะแล้ววิ่งหนีไป ซึ่งราศีเมษก็คือรูปร่างของซีอุสเมื่อยามเป็นแกะนั่นเอง

ราศีพฤษก
วันหนึ่งนางยูโรป้า เจ้าหญิงแห่งเมืองฟินิเชียน (Phoenician) ผู้มีความงามเป็นหนักหนา ออกไปเดินเล่นที่ทุ่งหญ้า (บางก็ว่าริมชายหาด) ก็ได้เห็นวัวสีขาวรูปร่างกำยำงดงามเป็นที่สุดตัวหนึ่ง เจ้าวัวตัวนี้เชื่องสนิทและยังมีท่าทีเป็นมิตรผิดกับท่าทีที่น่าเกรงขามของมัน นางก็เลยตายใจขึ้นเข้าไปลูบไล้และในที่สุดก็ขึ้นขี่หลังวัวตัวนั้น เมื่อนางขึ้นขี่หลังวัวตัวนั้นก็ออกวิ่งผ่านน้ำข้ามทะเลไม่ยอมให้นางลงจากหลังจนไปถึงเกาะครีต (Crete) ซึ่งจริง ๆ แล้ว วัวตัวนี้ก็คือซีอุสแปลงกายมา ด้วยว่าซีอุสเกิดหลงรักนางยูโรป้าจึงแปลงกายเป็นวัวมาลักพาตัวนาง และหลังจากนั้น นางยูโรป้าก็คลอดบุตรสามคนซึ่งได้แก่ มินอส (Minos) ลาดามันติส (Rhadamanthys) และซาร์เพดอน(Sarpedon) ซึ่งกลุ่มดาวราศีพฤษกก็คือรูปร่างของซีอุสเมื่อยามแปลงกายเป็นวัวที่ซีอุสทำไว้เป็นที่ระลึก และชื่อของทวีปยุโรป ก็ว่ากันว่าเอามาจากชื่อของนางยูโรป้านี่เอง

ราศีเมถุน
คาสเตอร์ (Castor) กับพอลลักซ์ (Pollux) เป็นฝาแฝดก็จริง แต่ไม่ใช่แฝดสอง แต่จริง ๆ แฝดสี่ แถมเป็นแฝดคนละไข่อีกด้วย (ที่ว่าเป็นคนละไข่น่ะ ไข่จริง ๆ นะ)
เรื่องมีอยู่ว่า ซีอุสเกิดไปหลงรักนางเรดา มเหสีของพระราชาไทนดาริอุส(Tyndareus) แห่งเมืองสปาร์ต้า ซีอุสจึงวางแผนกับเฮอร์เมส ให้เฮอร์เมสแปลงกายเป็นอินทรีให้ไล่ตามตัวเองซึ่งแปลงกายเป็นหงส์ขาว (ซึ่งว่ากันว่ากลุ่มดาวหงส์หรือ Cygnus ก็คือรูปร่างของซีอุสที่กลายเป็นหงส์ขาวนี่เอง) เมื่อนางเรดาเห็นดังนั้นจึงเข้าไปช่วยโอบกอดหงส์ขาวไว้แล้วไล่อินทรีไป แล้วไม่นานนักนางเรดาก็คลอกลูกออกมาเป็นไข่สองใบ (บางก็ว่าใบเดียว) และในไข่แต่ละใบ ก็มีฝาแฝดชายหญิงอย่างละคู่อยู่ ได้แก่ คาสเตอร์กับคลิเทมเนสตร้า(Clytemnestra)ในไข่ใบแรก และ พอลลักซ์กับเฮเลน (Helen) ในไข่ใบที่สอง (ซึ่งนางเฮเลนที่ว่านี้ ก็คือนางเฮเลนที่เป็นต้นกำเนิดของการล่มสลายของเมืองทรอยนั่นเอง)
คาสเตอร์กับพอลลักซ์เป็นพี่น้องที่รักกันมาก แต่ทว่าคาสเตอร์นั้นเป็นลูกของไทนดาริอุสที่เป็นมนุษย์จึงไม่ได้เป็นอมตะ ผิดกับพอลลักซ์ที่เป็นบุตรของซีอุสจึงไม่แก่ไม่ตาย คาสเตอร์และพอลลักซ์ (สองคนเรียกรวมกันว่าดีออสคอยส์ : Dioscuri) ซึ่งทั้งสองก็เป็นผู้กล้าที่มีชื่อเสียงมาก โดยได้เคยรวมเรืออาร์โก้ไปกับเจสันเพื่อเอาขนแกะทองคำด้วย
เรื่องเล่าเกี่ยวกับการตายของคาสเตอร์มีอยู่ว่า ทั้งสองได้ไปร่วมงานแต่งงานระหว่างคู่ฝาแฝดชายนามว่าอิดัส (Idas)และไลนเซอุส(Lynceus) กับฝาแฝดหญิงคือนางฟีเบ (Phoebe) และนางฮิลาเอย์ร่า (Hilaeira) ไม่รู้ว่าเมาอะไร คาสเตอร์กับพลอลักซ์กลับไปฉุดเอาเจ้าสาวทั้งสองมา ทำให้เกิดการต่อสู้กับอิดัสและไลนเซอุส ส่งผลให้คาสเตอร์ตาย (อิดัสกับไลนเซอุสก็ตายด้วย) พอลลักซ์เศร้าเสียใจมาก แต่ด้วยว่าตนเป็นอมตะไม่สามารถตายร่วมกับคาสเตอร์ได้ จึงร้องขอกับเหล่าเทพว่า ให้ตนสามารถแบ่งความเป็นอมตะแก่คาสเตอร์ หลังจากนั้นทั้งสองจึงอยู่บนสวรรค์ 1 วันและจะไปอยู่ในแดนแห่งความตาย 1 วัน สลับกันไป (บ้างก็ว่าครึ่งวัน บ้างก็ว่า 1 ปี) ซีอุสเห็นแก่มิตรภาพของทั้งสองจึงทำให้เกิดกลุ่มดาวราศีเมถุนขึ้นมา

ราศีกรกฏ
ในงานทั้ง 12ของเฮอร์คิวลิส มีอยู่งานหนึ่งคือไปกำจัดไฮดร้า(Hydra) ซึ่งเป็นงูยักษ์มี 9 หัว ส่วนเจ้าปูที่ว่านี่แม้แต่ชื่อก็หาไม่เจอและไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย แต่ก็ถูกเฮอร์คิวลิสที่กำลังต่อสู้อยู่เหยียบโดยไม่รู้ตัว แล้วเทพีเฮร่าซึ่งไม่ชอบเฮอร์คิวลิสอยู่แล้วก็เลยทำให้กลายเป็นกลุ่มดาว<ไปพร้อมไฮดร้าด้วย
แต่อีกที่บอกว่า เจ้าปูยักษ์ตัวนี้เป็นเพื่อนกับไฮดร้า เมื่อครั้งไฮดร้าสู้กับเฮอร์คิวลิสก็พยายามช่วยโดยหนีบขาเฮอร์คิวลิสไว้ แต่ก็ถูกเฮอร์คิวลิสเหยียบตายจนได้ เทพีเฮร่าเห็นก็เกิดประทับใจในความรักเพื่อน
 จึงทำให้เจ้าปูยักษ์ขึ้นไปเป็นหมู่ดาวบนฟ้า
ราศีสิงห์
ในงานทั้ง 12ของเฮอร์คิวลิส งานแรกก็คือการจัดการสิงโตยักษ์ที่อาศัยอยู่ในป่าเนมีอา (Nemea) สิงโตตัวนี้มีขนาดใหญ่โตมาก ชอบจับผู้คนกินเป็นอาหาร และยังมีผิวกายที่แข็งมากอีกด้วย แม้แต่ลูกธนูหรือไม้พลองของเฮอร์คิวลิสก็ไม่อาจทำอะไรมันได้ สุดท้ายเฮอร์คิวลิสจึงใช้มือเปล่าบิดคอมันจนตาย เทพีเฮร่าจึงยกให้สิงโตเป็นหมู่ดาวเพื่อสรรเสริญถึงอุปสรรคที่มันสร้างให้แก่เฮอร์คิวลิส


ราศีกันย์
สำหรับราศีกันย์นั้นมีอยู่หลายเรื่องเล่าว่าจนไม่แน่ใจว่าหญิงสาวที่ว่าหมายถึงใครกันแน่ ส่วนมากจะบอกว่าเป็นเทพีแอสเตรีย (Astraea) เทพีแพ่งความยุติธรรม หรือดีมิเตอร์(Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ หรือบางทีก็เป็นเพอร์ซิโฟเน่ (Persephone) ธิดาของดีมิเตอร์และซีอุส ด้วยว่าเพอร์ซิโฟเน่ ถูกฮาเดสลักพาตัวไปต้องอยู่ในแดนแห่งความตาย 4 เดือน และใน 4 เดือนนั้นเราจะไม่เห็นหมู่ดาวราศีกันย์ด้วย (ของดีมิเตอร์และเพอร์ซิโฟเน่คงไม่ต้องเล่าเพราะคิดว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว)

แต่มาดูเรื่องของแอสเตรียกันดีกว่า

เมื่อครั้งสมัยที่มนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นซึ่งเรียกกันว่า ยุคทอง ทั้งปีเปรียบเสมือนกับฤดูใบไม้ผลิ มนุษย์ก็อยู่กันอย่างสุขสบายแทบไม่ต้องทำมาหากินอะไรเลย เหล่าเทพก็เลยลงมาอาศัยอยู่บนพื้นโลกกับมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน แต่หลังจากผ่านยุคทองเข้าสู่ยุคเงินนั้นมนุษย์ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงกัน เหล่าเทพก็เกิดความเบื่อหน่ายจึงค่อย ๆ จากไปพำนักอยู่บนสวรรค์ทีละองค์สององค์ จนเหลือแต่เพียงเทพีแอสเตรีย ซึ่งเธอก็พยายามอดทนคอยตักเตือนมนุษย์ให้อยู่ในความดีตลอดมา แต่ก็ไม่มีผลอันใดมนุษย์กลับยิ่งเลวร้ายลง จนสุดท้ายเทพีแอสเตรียหมดความอดทนเธอก็จากพื้นโลกกลับสู่สรวงสวรรค์


ราศีตุลย์
ว่ากันว่าตาชั่งที่เป็นสัญลักษณ์ของราศีตุลย์ ก็คือตาชั่งของเทพีแอสเตรียที่ได้เล่าไปแล้วในราศีกันย์นั่นเอง

ราศีพิจิก
นายพรานชื่อว่าโอริออน (Orion) ออกตัวว่าตนเป็นผู้ที่เก่งกาจกว่าใคร จนทำให้เหล่าเทพเกิดไม่พอใจ (ราว ๆ ว่าหมั่นไส้ ) โดยเฉพาะเทพีไกอา (Gaia) รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงเรียกแมงป่องตัวหนึ่งมา ให้ไปจัดการกับโอริออนเสีย แมงป่องจึงใช้พิษที่หางของมันแทงโอริออนถึงแก่ความตาย จึงถูกยกให้กลายเป็นหมู่ดาวเพื่อเป็นเกียรติแก่มัน ส่วนโอริออนนั้นก็กลายเป็นหมู่ดาวโอริออนด้วยการร้องขอเทพีอัลเตมิส (อีกตำนานของกลุ่มดาวโอริออนเล่าว่า โอริออนตายเพราะลูกศรของเทพีอัลเตมิสที่หลงรักตนเพราะถูกอพอลโลหลอก) ว่ากันว่าแม้จะกลายเป็นดาวแล้วโอริออนก็ยังคงกลัวแมงป่องอยู่ โดยกลุ่มดาวโอริออนจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มดาวแมงป่อง และจะไม่ปรากฏให้เห็นจนกว่ากลุ่มดาวราศีพิจิกจะลับขอบฟ้าไป


ราศีธนู
กลุ่มดาวราศีธนูนี้หมายถึงเซนทอส(Centaur) ที่เป็นครึ่งคนครึ่งม้านามว่าเครอน (Cheiron)
เครอนเป็นเซนทอสที่ได้รับการสอนเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ การดนตรี การพยากรณ์ และการล่าสัตว์จากเทพพอลโลและเทพีอัลเตมิส ด้วยชื่อเสียงของเขา จึงทำให้เหล่าพระราชาและผู้กล้ามากมายต่างนำลูกของตนให้มาเป็นศิษย์ของเครอน ซึ่งลูกศิษย์ของเครอนก็มีตั้งแต่เฮอร์คิวลิส คาสเตอร์ ไปถึงเจสัน (+etc.)

ว่ากันว่าเครอนเป็นลูกของพิไลร่า (Philyra) ซึ่งเกิดระหว่างโครนอส (Chronos) และนิมส์ โดยโครนอสแปลงร่างเป็นม้าเพื่อหลบสายตาของเทพีเรอาผู้เป็นภรรยาไปหานางนิมส์ จึงเกิดเป็นครึ่งคนครึ่งม้าออกมา
การตายของเครอนนั้นว่ากันว่า เมื่อครั้งที่เฮอร์คิวลิสมีเรื่องกับพวกเซนทอส เกิดผิดพลาดยิงศรที่อาบยาพิษของไฮดร้าไปถูกเครอนเข้า พิษของไฮดร้านั้นร้ายแรงมาก แม้แต่เครอนที่ได้เรียนวิชาแพทย์จากเทพก็ไม่สามารถรักษาได้ แต่ด้วยว่าเครอนเป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย แต่ก็ไม่สามารถรักษาพิษได้จึงต้องทรมาณกับพิษของไฮดร้า เครอนทนความเจ็บปวดไม่ไหวจึงตัดสินใจยกความเป็นอมตะของตนให้แก่พรอเมเทอุส แล้วสิ้นใจลงกลายเป็นกลุ่มดาวราศีธนูไป

ยังว่ากันว่าปลายธนูของกลุ่มดาวราศีธนูนั้นเล็งไปที่หัวใจของกลุ่มดาวราศีแมงป่องอีกด้วย